วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

เด็กน้อยในเมืองผู้กล้า 4

บทที่ 3 Thai-lish vs. Scott-lish
พี่อะอยากจะร้องไห้ ฟังอะไรไม่รู้เรื่องเลยตอนแรก
ทีแรกผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่พี่สาวพูดมาหนะเวอร์แน่ๆ พี่สาวออกจะเรียนเก่ง คุยกับฝรั่งก็คล่อง จะฟังไม่ออกไม่รู้เรื่องได้ยังไงกัน พอไปเจอจริงๆก็ เอ่อ คือว่า คือ เอ่อ คือ ตัวฉัน แบบคือว่ามัน เผ่นดีไหมเรา คือเขาจะพูดสำเนียงแปล่งๆคะ ตัว “r” ก็จะม้วนลิ้นยิ่งกว่าสำเนียงคนอเมริกา แต่ไม่รัวเท่ากับ ในภาษาไทย เท่าที่ผู้เขียนได้ฟังมา1ปีกว่า คิดว่าการกระดกลิ้นนั้นใช้คนละส่วนของลิ้นคะ ของเขาน่าจะไปทางโคนลิ้นมากกว่า ส่วนของเราจะรัวกันที่ปลายลิ้นกันไป ถ้าใครที่เรียนPhonetics โดยตรงก็น่าจะเข้าใจนะคะ ส่วนสำเนียงของเราก็ทำเอาคนพื้นที่งงไม่น้อยเช่นกัน แบบว่าทำไมมันเน้นได้ทุกคำละเนี่ย
บางคำเขาก็พูดกันแบบสั้นๆไม่เต็ม เช่นคำว่า University เขาก็พูดกันแค่ Uni ผู้อ่านออกเสียงยังไงคะ สำหรับที่นั่น โดยเฉพาะลุงขับแท๊กซี่ที่เจอกันวันแรกนั้นพูดว่า ยู้นี่ ใช่คะ เหน่อมากคะ ทำเอาผู้เขียนงงกันตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าเมืองกันเลยทีเดียว ทำนองว่านายด่านตอนลงที่สนามบินฮีทโทรยังไม่เป็นแบบนี้เลย ข้ามเขตมาแค่เนี่ยทำไมถึงต๊างต่าง แต่จะว่าไปแล้วสำเนียงของชาวสก๊อตจะมีโทนมากกว่าคนอังกฤษนะ
“Do you want fish and chips?”
“!!! Ah! Yes, please”
คือว่ามาอังกฤษ อาหารประจำชาติก็ฟิชแอนด์ชิป แต่ที่นี้ผู้เขียนแอบงงตรงคำว่าชิปเนี่ยแหละ ตามที่เราเคยรู้มาเนี่ยมันเป็นภาพของมันฝรั่งอบกรอบเลย์ลอยมา แล้วนี่ปลาทอดจะกินคู่กับมันฝรั่งอบกรอบเนี่ย มันจะเข้ากันหรือ แล้วพอเขายกมาให้ก็ถึงบางอ้อว่า มันคือเฟรนฟรายนั่นเอง แล้วเฟรนฟรายที่นี่ขนาดตามคนกินคะ ใหญ่ อ้วน มีเนื้อให้เคี้ยว ไม่กรอบเท่าไหร่ อีกอย่างที่ผู้เขียนงงแล้วทำเอาพี่สาวฮามากๆคือเรื่องขนมปัง
“Do you want soup with a roll?”
“a what?”
 “a roll”
“um! Is it free?”
“yes”
“then, I will have it”
ผู้เขียนรู้แค่ว่าตัวเองสั่งซุป แต่ที่เขาว่าโรว์เนี่ยมันคืออะไร ผู้เขียนพยายามคิดว่ามันคืออะไร ทำไมเขาต้องให้เรากลิ้งด้วย หรือเขาจะกลิ้ง หรืออะไรม้วนๆ ไม่เก็ตอย่างรุนแรง พอเขาเสิร์ฟมันก็เป็นซุปที่เราสั่งกับขนมปังก้อนกลมๆก้อนนึง
พี่คะ ไอ้คำว่า rollเนี่ยหมายถึงขนมปังหรอ
อ่าว ก็ใช่นะซิ แล้วเธอคิดว่ามันเป็นอะไรละ
ก็ไม่รู้อะ เขาพูดมาก็งงว่าทำไมเราจะต้องกลิ้งด้วย
ฮ่าๆๆๆๆๆ จะบ้าหรอ มากินข้าวใครเขาให้เธอกลิ้ง
อ่าว ก็ขนมปังกลมๆเล็กๆแบบนี้ปกติเขาเรียกว่า bunไม่ใช่หรอ
ก็ที่นี่เวลาเขาเสิร์ฟซุปกับขนมปังมันแล้วแต่ที่ว่าเขาจะมีขนมปังแบบไหน แล้วคำเรียกขนมปังโดยรวมนอกจากbread แล้วก็ยังมีคำว่า rollเนี่ยแหละ แต่คำว่าbunเขามักจะใช้กับขนมปังที่ใช้ทำเบอร์เกอร์มากกว่า
ณ ตอนนั้นหัวสมองก็กระจ่างใส(หรือกลวง)ขึ้นมาทันใด ที่แท้เราก็หลงผิดคิดว่าเขาให้เรากลิ้งอยู่นาน ความจริงเขาถามเราว่าจะเอาขนมปังกินกับซุปหรือเปล่านี่เอง พี่สาวก็คงฮากับความเปิ่นผู้เขียนคะ เลยเอาไปเล่าให้รุ่นพี่คนนึงฟัง หัวเราะท้องแข็งกันไปทั้ง2คนกับจินตนาการการแปลคำศัพท์ของเรา ไม่เป็นไรคะ ผู้เขียนเองยังฮาตัวเองเลยว่าคิดไปได้ว่าเขาให้กลิ้ง แต่ตอนนั้นมึน นึกไม่ออกจริงๆว่าที่เขาพูดต้องการจะสื่อว่าอะไร
มีเรื่องเล่าความฮาและเปิ่นของผู้เขียนอีกเรื่องนึง เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำที่คนอังกฤษและคนสก๊อตใช้ไม่เหมือนกันคะ บอกให้เป็นการเกริ่นเล็กๆว่าเกี่ยวกับคำว่า “Tea” ที่แปลว่าน้ำชานั่นแหละคะ เรื่องมีอยู่ว่าเพื่อนในชั้นเรียนเดียวกัน เป็นชาวคาซัสสถานขอให้เราช่วยสอนโปรแกรมคอมจำพวก Photoshop อะไรทำนองนั้นให้หน่อย ผู้เขียนเองก็ไม่ได้เก่งอะไรหรอก ก็พอรู้ในเรื่องที่เขาไม่เข้าใจบ้างเลยตอบตกลงไป ก็นัดเจอกันที่หอพักของเพื่อน ก็โอเคแหละคะเพราะว่าหอพักของเพื่อนคนนี้เป็นหอครอบครัวที่อยู่ในตัวมหาลัยเลย
ขอบคุณมากๆนะที่ช่วยอธิบาย ช่วยดูให้
ไม่เป็นไร ถ้าไม่มีอะไรแล้วเราขอตัวกลับหอพักก่อนนะ
กลับเลยหรอ อยู่ Have tea ก่อนไหม
อืม ก็ได้
ตอนนั้นเป็นเวลาประมาณบ่าย3โมงเกือบ4โมงแล้ว ผู้เขียนก็คิดว่าเพื่อนพูดถึงนั่งจิบน้ำชา คุยกันเล่นๆเพลินๆไป ผู้เขียนก็เลยตอบตกลง แต่ก็เริ่มงงๆเมื่อเพื่อนของผู้เขียนวิ่งไปมา พูดอะไรกับสามีในครัวก็ไม่รู้ แล้วออกมาพร้อมกับขนมจำพวกขบเคี้ยวและช็อคโกแลตจานโต ตามด้วยน้ำชาร้อนแก้วนึง มันก็ฟังดูโอเคสำหรับเวลาน้ำชาแบบผู้ดีใช่ไหมคะ ต่อมาเพื่อนผู้เขียนก็วิ่งไปเอาน้ำผลไม้มาเสิร์ฟอีก เอ ไหนว่าเวลาน้ำชา ทำไมมีน้ำผลไม้ด้วย ไม่เป็นไร นิดหน่อยมั้ง ผู้เขียนกับเพื่อนก็นั่งคุยไปเรื่อยๆ อีกแป๊ปนึงเพื่อนผู้เขียนก็วิ่งเข้าครัวไปอีกแล้ว เอาละซิ นี่ทำไมเวลาน้ำชามันยุ่งยากกว่าที่คิดเนี่ย คราวนี้ก็เป็นแคร็กเกอร์ ขนมปังกรอบ มาพร้อมกับแยมพีชทำเองและเนย คือจากของกินเหล่านี้แล้วยังเรียกว่าอยู่ในเมนูน้ำชาอยู่นะคะ แต่ด้วยขนาดแล้วเนี่ย ทำให้ผู้เขียนอดสงสัยไม่ได้ เพราะแยมพีชเนี่ยไม่ได้ใส่มาเป็นน้ำจิ้มเล็กๆ แต่เรียกเป็นโถจะเห็นภาพกว่า ผู้เขียนคิดว่าก็คงแค่นี้แหละ เพราะไม่น่าจะมีอะไรแล้ว เยอะแล้วเหมือนกัน ก็นั่งคุยกันไปตั้งแต่เรื่องการทำแยมเอง ทำอาหารเอง ประเทศเขาเป็นยังไง รายงานถึงไหนแล้ว เรื่อยเปื่อยตามภาษาสาวๆคุยเล่นกัน
เออ สามีเธอไม่ออกมานั่งคุยด้วยกันหรอ
อ้อ ไม่เป็นไรหรอก เขาโอเค เดี๋ยวขอตัวไปในครัวแป๊ปนึงนะ
ถ้าเธอไม่ว่างอยู่ ฉันค่อย.....
ผู้เขียนพูดไม่ทันจบเพื่อนก็วิ่งเข้าครัวไปเสียแล้ว ทีนี่ละคะ สิ่งไม่คาดคิดก็มาเป็นระลอก เริ่มจากเพื่อนออกมาพร้อมกับสลัดมันฝรั่งบดที่โรยหน้าด้วยชีสท่วมท้น ใช่คะ มันเริ่มไม่ใช่เมนูเวลาน้ำชาแล้ว แต่มันยังไม่จบแค่นี้คะ มันยังมีตามด้วยพริกหยวกยัดไส้มาอีก ผู้เขียนก็อึ้งคะ เขายกมาแล้วจะบอกว่าไม่กินก็ไม่ได้ พริกหยวกเป็นแบบต้มหรือตุ๋นจนเปื๋อยนิ่มแล้ว หวานมากด้วย ข้างในเป็นข้าวกับเนื้อ เราก็แกล้งเนียน กินไปคุยไป
อร่อยมากเลย ทำเองหรอ
ใช่ ฉันทำเองแหละ ของพวกนี้เราทำเองหมดเลย
ทำกับข้าวเก่งนะเนี่ย
ในใจผู้เขียนคิดว่านี่เป็นการใช้เวลาน้ำชาได้นานและอิ่มมากๆ ก็คุยกันไป เล่นกับลูกเขาไป ไม่รู้ว่าเราเล่นกับเขาหรือว่าลูกเขาเล่นกับผู้เขียนกันแน่ เพราะตอนนั้นผู้เขียนอิ่มจนรู้สึกว่าตัวเองจะกลายเป็นลูกบอลอยู่แล้ว ตบท้ายยังมีส้มหั่นมาให้ผู้เขียนทาน แล้วยังให้พกแอปเปิลกับช๊อคโกแลตกลับหอพักอีก ตอนกลับถึงหอพักเป็นเวลา5โมงกว่าๆได้ ซึ่งปกติเป็นเวลาที่ผู้เขียนจะต้องทำกับข้าวแล้วก็ทานข้าวเย็น แต่ผู้เขียนไม่มีแรงทำและไม่มีที่เหลือในท้องแล้ว
วันนี้กินอะไรละเรา
เออ กินเยอะมากๆเลยแหละ เป็นการกินน้ำชาที่อิ่มมาก คิดว่าจะไม่กินข้าวเย็นแล้ว อิ่มได้ถึงเช้าเลยตอนนี้
หมายความว่าไงเนี่ย กินน้ำชาแล้วอิ่มเหมือนกินข้าวเย็น งงไปหมดแล้ว
ไม่มีอะไร คือไปช่วยสอนคอมที่หอเพื่อนนิดหน่อย แล้วเขาก็เลยชวนกินน้ำชา แต่ไม่นึกว่าจะมาเป็นคอสอาหารเต็มสูตรอะ
เอ่อ พี่ว่าเราเจอคำว่า teaในความหมายของคนสก๊อตแล้วแหละ
หมายความว่าไงอะ
ก็คำว่า tea ของคนสก็อตเขาหมายถึงกิน dinner นะซิ
นั่นแหละคะ ผู้เขียนก็ได้คำตอบจากพี่สาวไปว่าเขาชวนกินข้าวเย็นกันแบบนี้ ถ้าเป็นเวลาน้ำชาเขาจะพูดว่า tea time แต่ถ้าคนสก๊อตพูดคำว่า teaเฉยๆเนี่ยให้คิดไว้ว่าเป็นทานข้าวเย็นคะ ที่ตลกคือคนที่ใช้คำนี้กับผู้เขียนไม่ใช่ชาวสก๊อตแต่เป็นคาซักสถาน สรุปว่าผู้เขียนก็ประหยัดค่าข้าวไปได้มื้อนึงและได้คำศัพท์ใหม่ประจำวันมาอีกคำด้วย
ส่วนคำอื่นๆก็จะมีคำว่า quid ที่ใช้แทนคำว่า pound ที่เป็นค่าเงินของอังกฤษ แต่ถ้าเราไม่พูดก็ไม่เป็นไร ไม่ได้สับสนอะไรมากคะ อีกอันรายการคริส ดีลิเวอร์รี่คงอธิบายไปเรียบร้อยแล้วเกี่ยวกับเรื่องการเรียกเก็บเงิน คนไทยเราเรียก 2อย่าง ทั้งแบบอังกฤษและอเมริกันรวมกันนะคะ ก็ใช้แค่อันเดียวพอนะคะ บอกบริกรไปว่า “Can I have a bill please?” เท่านี้ก็พอแล้วคะ สำหรับใครที่จะไปเรียนสก๊อตแลนด์ไม่ต้องห่วงเรื่องฟังไม่รู้เรื่องเพราะคนที่ไปตอนแรกทุกคนก็มึนงง ไม่รู้เรื่องพอๆกันคะ บอกเขาไปเลยว่าพูดช้าๆหน่อยได้หรือเปล่าเราฟังไม่ทัน ถึงแม้เราจะฟังทันเราฟังซ้ำอีกรอบไว้จะดีกว่า พอผ่านไปสัก2-3สัปดาห์หูและสมองของเราก็จะเริ่มปรับสภาพได้แล้วก็เข้าใจมากขึ้นเองคะ พยายามตั้งสติเวลาฟังก็พอคะ
ขอเรื่องส่งท้ายบทนี้นิดนึง ผู้เขียนไปเที่ยวกับเพื่อน(ที่ไม่ได้เรียนอยู่ในสก๊อตแลนด์)ที่เมืองกลาสโกว การสื่อสารไม่เพียงท้าทายสำหรับเรา แต่มันเป็นการท้าทายสำหรับคนพื้นเมืองที่นั่นด้วยเช่นกัน เพราะผู้เขียนพยายามสื่อสารกับคนขับรถเมล์แล้วมึนกันทั้ง2ฝ่าย
“how can I go to Kevingroove Museum?”
“….say that again!”
“how can I go to Kevingroove Museum?” (แบบสะโลสุดๆพร้อมท่าชี้แผนที่ประกอบ)
“I don’t understand what’ve you said!”
“….. want to go to this” ชี้ที่แผนที่แล้วยื่นให้คนขับรถเมล์
“Oh! I see come with me and I will show you……”
แล้วคนขับรถเมล์ก็พาเราไปที่รถคันที่ไปพิพิทธภัฑณ์ ผู้เขียนฟังคนขับคนนั้นรู้เรื่องหมดทุกอย่างแต่ดูเหมือนว่าเราสำเนียงไม่ดีละมั้ง
ตลอดที่เธอคุยกับคนขับรถเมล์ ผมฟังคนขับรถเมล์ไม่ออกเลย ฟังออกแต่สิ่งที่คุณพูด
นี่เป็นคำพูดของเพื่อนต่างชาติที่ร่วมเดินทางด้วยกันในครั้งนั้น ผู้เขียนเลยไม่แน่ใจว่าระหว่างไทย-ลิช กับสก๊อต-ทิช เนี่ย อันไหนมันแย่กว่ากัน เอาเป็นว่าพยายามสื่อสาร ชี้ๆ เดี๋ยวก็รู้เรื่องกันเองละคะ คนสก๊อตก็น้ำใจดีใช้ได้อยู่คะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น