วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

tons to tell

เริ่มจากอะไรก่อนดีละคะ คืออ่านจบไปหลาบเรื่องเหมือนกัน เอาเป็นเริ่มจากหนังสือประวัติศาสตร์ไทยที่เราได้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ เอ๊ะ งงไหมคะ ความจริงก็มีเขียนเป็นภาษาไทยด้วยแหละคะ แต่บังเอิญได้ยืมจากคุณป้าที่รักมา เลยได้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ แหม เกริ่นมาเนิ่นนาน บอกเลยแล้วกันว่าชื่อเรื่อง Lords of Life หรือชื่อภาษาไทยคือ "เจ้าชีวิต" นั่นเอง เขียนโดย Prince Chula Chakrabongse ท่านเขียนได้ลื่นไหลมาก เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เล่มแรกที่เราอ่านแล้วติด วางไม่ลง รู้สึกเหมือนอ่านนิยายยังไง ยังนั้นเลยทีเดียว อีกอย่างนึงที่ชอบเกี่ยวกับหนังสือเล่มนึ้คือ ท่านผู้เขียนได้ทำการค้นคว้าข้อมูลไม่ใช่จากทางคลังความรู้ของคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจากจดหมายของชาวต่างชาติ รวมทั้งเอาความเห็นเชิงวิเคราะห์เรื่องประวัติศาสตร์ไทยจากคนอื่น ยกมาให้เราได้เห็นกันอีกด้วย นอกจากนั้นที่ทำให้เป็นสิ่งพิเศษมากก็คงหนีไม่พ้นประสบการณ์ของท่านผู้เขียนนั่นเอง

ต่อจากหนังสือเล่มนี้ก็มาพูดถึงหนังสือไทย และเขียนเป็นภาษาไทยกันบ้าง เรื่อง "มณีแดนสรวง" โดย คุณพงศกร เป็นหนังสือรวมเล่มจากทางสำนักพิมพ์พลอยแกมเพชร แนวแฟนตาซี รัก โรแมนติก คอมเมอร์ดี เป็นเรื่องเกี่ยวกับนางฟ้าน้อยที่ซุกซน(ปนแอบหวังดี) พยายามไปแก้ไขชะตามนุษย์โลก ซึ่งเป็นการแหกกฎสวรรค์อย่างแรง บิดาของนางฟ้าน้องจึงได้ลงโทษให้ตนและเพื่อนเทวดาหนุ่มลงมาบนโลกมนุษย์ โดยที่ตนเองมีสภาพเหมือนมนุษย์ธรรมดาเท่านั้น ไม่มีเวทมนต์แต่อย่างไร เรื่องใสๆน่ารักๆ ทำให้อ่านไปอมยิ้มไปโดยไม่รู้ตัว นอกจากเรื่องราวรักๆ ความวุ่นวายมากมายระหว่าง มนุษย์กับนางฟ้า นางฟ้ากับพยามาร พยามารกับมนุษย์ที่ให้คนอ่านลุ้นกันตัวโก่งแล้ว ผู้เขียน คุณพงศกรยังได้สอดแทรกเรื่อง "ไตรภูมิพระร่วง" หรือ "ไตรภูมิกถา"ไว้ให้ผู้อ่านได้รำลึกถึงตอนเรียนชั้นมัธยมกันด้วย สำหรับเราแล้วแอบคิดว่าช่วงที่บรรยายเรื่องไตรภูมิพระร่วงในบางช่วงยาวไปนิดนึง (ตอนนี้คนอ่านคงงงเราแล้วละซิว่า อ่านเล่มแรก กับเล่มนี้เนี่ยคนละแนว สุดขั้วมากๆ)

เล่มต่อมาเป็นภาษอังกฤษอีกแล้วละ เป็นหนังสือที่รวมงานเขียนเรื่องสั้นของนักเขียนชาวสก๊อตชื่อดังไว้ถึงสามคนด้วยกัน (อเล็กซานเดอร์ แมคคอสมิต, เอียน แลงคิน, ไอริน เวช) ส่วนคำนำก็ได้นักเขียนดังก้องโลกอย่าง เจ เค โรลิง มาเขียนให้ หนังสือเล่มนี้จัดทำขึ้นโดยโครงการThe ONECITY Trust เป็นกึ่งมูลนิธิช่วยเหลือและพัฒนาสังคม สภาพแวดล้อมในเมืองเอดินบะระ ประเทศสก๊อตแลนด์ จุดประสงค์ต้องการลดอาชญกรรมและประสานใจคนให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำให้เมืองเป็นเมืองที่น่าอยู่ยิ่งขึ้น ช่างเป็นโครงการที่อ่านจุดประสงค์แล้วน้ำตาคลอเบ้าจริงๆ ไม่แน่ใจว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ขายในเมืองไทยที่ร้านไหนหรือเปล่า หากผู้ใดเจอว่าขายที่ไหน ยังไงก็บอกกันบ้าง เผื่อคนอื่นจะได้ไปลองอ่านกันนะคะ คือ3นักเขียนดังนี้ เขียนแนวๆสีบสวน ลึกลับ อะไรทำนองนั้น แต่สำนวนต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าเกิดมีขายก็เป็นโอกาสดีของเราที่จะไปลองซื้ออ่าน เพื่อลองเช็คดูก่อนว่าแนวเขียนของนักเขียนคนไหนที่เราคิดว่าเราชอบ แล้วค่อยไปตามซื้อนิยายเขาได้
ตอนนี้ขอพักไว้แค่3เล่มก่อนแล้วกันคะ ส่วนมีเรื่องเล่าอื่นๆ หนังสือใหม่ที่เพิ่งอ่านจบไปนั้น ขอยกมาเล่าเป็นครั้งถัดไป มีใครอยากแนะนำหนังสือแนวไหนก็บอกมาได้นะคะ อยากลองอ่านหลายๆแนวอยู่แล้ว
ไว้เจอกันเมื่อหนังสือเมื่อหนอนหนังสือกินหมดเล่มหน้านะคะ

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ประสบการณ์เมืองผู้กล้า


คุณหนูในเมืองผู้กล้า

หนูไปเรียนโทที่ไหนหรอ
ไปเรียนที่เมืองสเตอริง สก็อตแลนด์คะ
หรอ.... แล้วต้องไปเรียนภาษาสก็อตไหม
ไม่คะ สก็อตแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษคะ
นี่เป็นคำถามหนึ่งที่เรามักได้รับเวลาบอกผู้อื่นว่าเราไปเรียนที่สก็อตแลนด์ ในยุคก่อนหน้าที่เด็กไทยจะนิยมไปเรียนอังกฤษนั้น สก็อตแลนด์ถือว่าไม่อยู่ในแผนที่โลกเลยก็ว่าได้ ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความสำคัญ เพียงแต่เราไม่รู้เท่านั้นเอง แล้วยิ่งคำท้ายเป็นคำว่า แลนด์ ที่แปลว่าแผ่นดิน หรือประเทศแล้ว ก็ยิ่งเป็นอะไรที่ทำให้คนฟังครั้งแรกคิดไปว่าเป็นประเทศนึงสักประเทศ อาจจะเป็นในแถบยุโรปสักแห่ง แต่สำหรับคนไทยที่รู้จักสก็อตแลนด์แล้วก็จะเป็นอีกแบบนึง
สก็อตแลนด์หรอ ไม่ใช่อังกฤษหนิ (บางคนหัวเราะเยาะด้วยซ้ำ)
คะ เขาไม่ใช่อังกฤษ แต่เป็นคนประเทศเดียวกัน
อันนี้เจอหลายคนเหมือนกันที่หัวเราะว่าเราจะไปเรียนที่นั่นแล้วยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรอีก มันก็เลยทำให้ผู้เขียนลำบากใจพอดูว่าจะต้องพูดอย่างไรให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆดี เวลาที่คนอื่นเขามาถามถึงเมืองที่เราไปเรียนต่อปริญญาโท ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุของความสับสนอันนี้เนื่องมาจากการที่คนไทยเรียกสหราชอาณาจักรอังกฤษแบบย่อๆสั้นๆว่า ประเทศอังกฤษ หรือบางคนก็พูดแต่คำว่า อังกฤษ อย่างเดียว ถ้าเราแปลตามศัพท์แล้วเราจะรู้ทันทีว่าในเกาะนี้รวบรวมรัฐคล้ายกับอเมริกา แต่ในนี้มีแค่4รัฐ หรือ4ชนชาติใหญ่ๆคือ อังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์และไอแลนด์เหนือ โดยที่ไอแลนด์เหนือคนคงไม่ค่อยสับสนถ้าดูแผนที่เพราะเป็นเกาะข้างๆเกาะอังกฤษที่มีรูปร่างใหญ่กว่า แล้วในเกาะใหญ่กว่าเนี่ยแหละที่น่าสับสนยิ่งแก่การอธิบาย ตัวอังกฤษเองจะอยู่โซนตรงกลางเกาะ เวลส์จะอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนสก็อตแลนด์นั้นจะอยู่ทางเหนือ ถ้าคนไม่รู้ก็อธิบายกันยาว ส่วนคนที่รู้เวลาพูดก็พูดสั้นๆ เลยเหมือนเราไม่รู้อีก มึนกันไป แล้วทีนี้พอคนรู้ว่าสก็อตแลนด์อยู่ไหน ก็จะไม่รู้จักเมืองที่ชื่อว่าสเตอริงคะ คนไทยส่วนใหญ่มักจะรู้จักเอดินบะระกับกลาสโกวมากกว่า
ไปเรียนเมืองไหนหรอ กลาสโกวหรือเอดินบะระ
อ้อ ไม่ใช่คะ เมืองชื่อสเตอริง
วิธีแก้ปัญหาอาการงงงวงให้ผู้ที่ถามคือ
เมือง brave heart นะคะ
เป็นอะไรที่ใช้ได้ผลมากคะ เพราะหนังเรื่องนี้มันดัง ถึงแม้ว่าสถานที่ถ่ายทำไม่ได้ใช้ที่เมืองนี้เลยก็ตาม จะว่าไปแล้วตลอดการสนทนาเรื่องนี้เนี่ย คนอื่นจะเข้าใจผู้เขียนต่อเมื่อประโยคหลังสุดนี่แหละ เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นแรงบันดาลใจเล็กๆที่ทำให้ผู้เขียนอยากเล่าเรื่องเมืองนี้เล็กๆน้อยๆ ประกอบกับการไปเรียนเมืองนี้ในฐานะเด็กต่างชาติคนนึงว่าเป็นอย่างไร

ไว้จะแปลเป็นอังกฤษ แล้วก็ตอนถัดไปจะมาเร็วๆนี้นะคะ