วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

Review- ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน

Review  ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน
สวัสดีปีใหม่ค่ะ อ่านหนังสือจบประเดิมเล่มแรกของปี 2555 ความจริงแล้วเล่มนี้ก็อ่านตั้งแต่ปีที่แล้วเนี่ยแหละ แต่ยาวมาจบวันที่ 31 ธันวาคม 2554 หนังสือเล่มนี้ซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ผ่านมา เป็นหนังสือหนักอีกเล่มนึงเลยทีเดียว หนังสือชื่อ ในกระจก: วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน
หนังสือเล่มนี้เป็นการรวมเรื่องสั้น ผลงานของนักเขียนระดับเทพหลายท่าน ซึ่งเดิมทีแล้วการรวมเรื่องสั้นเหล่านี้รวมและแปลเป็นภาษาอังกฤษ โดย ศาสตราจารย์เบเนดิกท์ แนเดอร์สัน (In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era) ผู้ช่ำชองวรรณคดีเอเชียเป็นอย่างยิ่ง ได้นำไปใช้เป็นสื่อการสอนในอเมริกา สำหรับคอร์ส หรือ คลาส ที่เกี่ยวกับประเทศไทย

หลังจากนั้นค่อยจัดทำและวางจำหน่ายเป็นภาษาไทย ภายใต้สำนักพิมพ์อ่าน
ขอเตือนไว้แต่แรกสำหรับผู้ไม่ชอบอ่านอะไรที่เป็นดราม่า เครียดๆ หนักๆ สะท้อนสังคม ออกแนวหดหู่ เพราะทุกเรื่องเป็นแนวนี้หมดค่ะ แค่เริ่มบทนำที่เขียนโดยคุณเบเนดิกท์เอง ก็หนักอึ้งเกือบร้อยหน้าเข้าไปแล้ว เป็นการอ่านบทนำที่ใช้เวลานานที่สุดเท่าที่เคยอ่านหนังสือเล่มไหนๆ มา แต่ก็สนุก ได้ความรู้ ทบทวนประวัติศาสตร์บ้านเรา ได้กระตุกปมความคิดให้ตั้งสติในหลายๆ ด้าน แต่ด้านทีทุกคนที่ได้หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านในคราวแรกคงหนีไม่พ้น ความทึ้งในความรู้ของชาวต่างชาติคนนี้ ที่ให้ข้อมูลทั้งด้านบวกและลบของสังคมในประเทศไทยอย่างรู้จริง
มาดู list เรื่องสั้นและคนแต่งกันบ้าง ลองดูตามแล้ว อ่านผ่านๆ ดูว่ามีเรื่องไหน หรือนักเขียนท่านไหนที่คุ้นชื่อบ้าง สำหรับตัวเราแล้วนั้น ขอยอมรับโดยสดุดีว่า ชื่อนักเขียนเคยคุ้นหูอยู่บ้าง แต่ชื่อเรื่องสั้นและผลงานเหล่านี้ ทำเอาเราคิดว่าเราเป็นผู้อ่านแบเบาะไปเลย เพราะไม่คุ้นและเคยผ่านตาสักนิด เอาเป็นว่าลองดูกันค่ะ แล้วบอกกันบ้างนะคะว่าคุ้น เคยอ่าน หรือรู้จักสักกี่ท่าน กี่เรื่อง
1.       กมลสันดาน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
2.       เหมือนอย่างไม่เคย โดย วิทยากร เชียงกูล
3.       อีกไม่นานเธอจะรู้ โดย ลาว คำหอม
4.       มิชิแกนเทสต์ โดย วาณิช จรุงกิจอนันต์
5.       ก่อนถึงดวงดาว โดย วัฒน์ วรรณยางกูล
6.       แม่พระคงคา เถ้าแก่บัก และหมา โดย ศรีดาวเรือง
7.       หมู่บ้านรถไฟ โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
8.       คนอ่านหนังสือ โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
9.       ในกระจกเงา โดย กรณ์ ไกรลาศ
10.   ยาเม็ดสีชมพู โดย มานพ ถนอมศรี
11.   12.00 . โดย นิเวศน์ กันไทยราษฎร์
12.   กำไลคอ โดย สำรวม สิงห์
13.   ผืนน้ำและแผ่นดิน โดย ประทีป ชุมพล
ความจริงแล้วแต่ละเรื่องไม่ได้ยาวเลย แต่ด้วยเนื้อหาที่หนัก ทำให้อยากค่อยๆ ดู กลับไปอ่านอีกทีว่าเข้าใจถูกไหม เหมือนเราค้นหาเหตุผลของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อตาเรานั่น และถ้าไม่รวมบทนำ คำนำ บทสัมภาษณ์ ประวัตินักเขียนและอื่นๆ หนังสือเล่มนี้ก็คงบางกว่านี้ อาจจะขนาดเท่ากับหนังสือทั่วไปและคงถูกกว่า 350 บาทเป็นแน่
หลังจากตรงนี้ก็เป็นประวัติของนักเขียนแต่ละคน บทสัมภาษณ์คุณเบเนดิกท์ผู้แสนถ่อมตน บอกว่าตัวเองเชี่ยวชาญภาษาอินโดนีเซีย ได้แปลจากภาษาอินโดเป็นภาษาอังกฤษหลายเรื่องแล้ว แล้วคิดว่าภาษาอินโดง่ายที่สุดในแถบนี้ ยังได้บอกอีกว่า ตัวเองคงไม่ได้แตกฉานภาษาไทยอะไรนัก แต่ด้วยเนื้อเรื่องเหล่านี้ แล้วสามารถนำไปสอนชาวต่างชาติที่ภาษาแม่ห่างไกลกับภาษาไทยนัก รวมถึงนั่งวิจารณ์งานเขียน ให้ความเห็นเกี่ยวกับสังคมไทยได้มากมาย ลึกซึ้งยิ่งกว่าคนไทยบางคนแล้ว ขอบอกเลยว่าคุณเบเนดิกท์แตกฉานภาษานี้แล้วละค่ะ
คงเป็นอีกเรื่องที่อนาคตต้องมานั่งอ่านอีกรอบ แต่อ่านอีกรอบเนี่ยไม่แน่ว่าจะอ่านเหล่าเรื่องสั้นพวกนี้ แต่ที่เราสนใจอ่านอีกรอบคือตัวบทสัมภาษณ์ ประวัติผู้เขียนทั้งหลายและบทวิจารณ์ต่างหาก
ข้อเสีย (สำหรับตัวเรา) ของหนังสือเล่มนี้คือ เนื้อหาหนัก อ่านกันเหนื่อยหน่อย
ข้อดีคือ ได้เห็นว่า ความจริงแล้วก็มีต่างชาติชื่นชมผลงานบ้านเราเหมือนกัน ด้วยข้อความตรงบทสัมภาษณ์ของคุณเบเนดิกท์ทำให้เรารู้ว่า เรายังมีความ irony อยู่ในตัวพอสมควร และด้วยการอ่านบทสัมภาษณ์และคำนิยมแล้วก็ทำให้เราได้เปิดใจกับอีกหลายเรื่องมากขึ้น

ถึงตรงนี้ตอบคำถามตอนต้นหน่อยว่ามีใครคุ้นกี่ชื่อ กี่เรื่องกันบ้าง ^^